4 เทคนิคการถ่ายวิดีโอ ที่มืออาชีพแนะนำ
กราบสวัสดีทุกคนอีกเช่นเคยนะคร้าบ เราก็ยังคงอยู่กันเรื่องราวเกี่ยวกับวิดีโออีกแล้ว ครั้งนี้เราจะมาแบ่งปันให้ทุกคนฟังกันถึงเรื่อง
4 เทคนิคการถ่ายวิดีโอ ที่มืออาชีพเขาได้ใช้กันนะครับ ทุกคนสามารถเอาไปใช้กับ Snoppa M1 หรือจะเป็นการถ่ายวิดีโอทั่วๆไปก็ได้เช่นกันครับ จะมีอะไรกันบ้างเราไปเริ่มดูกันเลยย
1. เทคนิคการใช้กล้องวิดีโอ แบ่งเป็น 6 แบบด้วยกัน
1) ถ่ายอย่างน้อย 10 วินาที
- ทำไมต้อง 10 วินาที? เพราะว่าพอเราเริ่มเอามือกดถ่ายวิดีโอกล้องมันจะสั่นครับ และ ช่วง 2-3 วินาทีแรก ของการถ่ายวิดีโอ
คนที่ถูกเราถ่ายเขาจะตกใจ ทำให้ Composition ต่างๆจะยังไม่ดี จึงต้องเผื่อไว้ อย่างน้อย 10 วินาที ครับ - ตอนเราถ่ายวิดีโอต้องกลั้นหายใจครับเพื่อป้องกันกล้องสั่น ไม่ใช่กลั้นนานจนไม่หายใจเลยนะครับ
กลั้นแค่ 10-20 วินาที พอ เพราะการถ่ายวิดีโอแต่ละ Shot นั้นใช้แค่ 10-20 วินาที ก็พอ ถ้านานกว่านี้คนที่ดูจะเริ่มเบื่อครับ
2) การถือกล้องวิดีโอ
- มือที่เราใช้ถ่ายวิดีโอนั้นจะต้องเสียบอยู่ในกริ๊ปของกล้องวิดีโอตลอดเวลา เพื่อป้องกันกล้องตกลงมาครับ
- การยืนถ่าย ให้เราเอาข้อศอกของเราแนบติดไว้กับท้องเรา และตาเราก็แนบกับที่กล้องเลย เพื่อลดการสั่นในการถ่ายครับ
- การนั่งถ่าย เราควรต้องหาอะไรมาคอยวางข้อศอกของเราเพื่อลดการสั่นครับ เช่น โต๊ะ เข่าของเราเอง
แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดก็ต้องเป็นขาตั้งกล้องครับ
3) การ Pan
- การ Pan คือ การถ่ายวิดีโอไปตามแนวราบจาก ซ้ายไปขวา หรือ ขวาไปซ้าย ถ้าเราไม่ได้ใช้ขาตั้งกล้องในการทำจะยากมาก
เพราะมันจะได้ความเร็วใน การ Pan ที่จะดูไม่สม่ำเสมอกัน ถ้าเป็นขาตั้งกล้องจะง่ายกว่ากันครับ - เราต้องเลือกเลยว่าจะ Pan จากซ้ายไปขวา หรือ จากขวาไปซ้าย ให้จบไปทางหนึ่งไม่ควรกลับไปกลับมารัวๆครับ
เพราะคนที่มาดูจะงงเอาได้
4) การ Tilt
- การ Tilt คือ การถ่ายวิดีโอไปตามแนวดิ่งจาก บนลงล่าง หรือ ล่างขึ้นบน เช่นกันหากเราต้องการงานที่เนี๊ยบ
ก็จำเป็นที่ต้องใช้กับขาตั้งกล้องเข้าช่วยด้วยครับ - หลัก การ Tilt ก็เช่นเดียวกับการ Pan คือเลือกว่าจะ บนลงล่าง หรือ ล่างขึ้นบน อย่ากลับไปกลับมานะ คนดูงงแน่ๆเลย
5) การ Zoom
- ขณะที่เราถ่ายวิดีโอนั้น การ Zoom จะทำค่อนข้างยาก เพราะมันอาจทำให้ความต่อเนื่องของวิดีโอดูขาดไปครับ ต้องใช้ความชำนาญสักนิดนึง เช่น เรากำลังถ่ายคนกลุ่มนึงอยู่ และต้องการจะให้เห็นภาพรวมของพื้นที่นั้นทั้งหมด ก็จะค่อยๆทำการ Zoom กล้องออกมา จากที่เราเห็นคนกลุ่มเดียว พอขยายออกมาก็จะเห็นความสวยงามของพื้นที่บริเวณนั้นทั้งหมดเลย
6) การ Dolly
- การ Dolly คือ การที่เราจะทำให้กล้องเคลื่อนที่ บางครั้งดูคล้ายกับ Pan แต่เทคนิคนี้ จะให้ภาพที่สวยกว่าของ Pan มากครับ
แต่จะทำค่อนข้างยากเพราะจะต้องใช้อุปกรณ์เพิ่ม เช่น สไลเดอร์ ซึ่งราคาค่อนข้างสูงและใช้เวลานานในการเตรียมอุปกรณ์
2. การจัด Composition แบ่งเป็น 4 แบบด้วยกัน
1) Head and Room Space
- Head Space คือ การเว้นระยะพื้นที่ระหว่างศีรษะกับขอบด้านบน เราจำเป็นต้องเว้นระยะไว้ให้พอดีไม่มากไม่น้อยจนเกินไป
เพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้คนดูงงว่าแล้วเราต้องการเน้นส่วนไหนในภาพกันแน่ ฉะนั้นต้องเว้นระยะดีๆกันนะครับ
- Room Space คือ ระยะพื้นที่ด้านหน้าและด้านหลังของผู้ที่ถูกถ่ายอยู่ ซึ่งการถ่ายไม่จำเป็นต้องให้ผู้ที่ถูกถ่าย
อยู่ตรงกลางเฟรมเสมอไป เราอาจจะเว้นระยะไว้เพื่อจะสื่ออารมณ์ออกมาเพิ่มเติมได้ครับ
2) กฏ 3 ส่วน
- คือ การแบ่งภาพเป็น 3 ส่วน ส่วนใหญ่ใช้กับการถ่ายภาพวิวธรรมชาติ ซึ่งหากเราอยากต้องการให้ส่วนไหนเด่นเป็นพิเศษ
ก็ให้เน้นส่วนนั้นมีพื้นที่เยอะกว่าครับ
3) จุดตัด 9 ช่อง
- การแบ่งพื้นที่ในภาพโดยใช้ เส้น 3 เส้น ในแนวนอนและแนวตั้งตัดกัน จะมีทั้งหมด 9 ช่อง เราจะวางตำแหน่งของวัตถุให้ตรงกับจุดตัดของเส้น จะทำให้ภาพของเราดูโดดเด่นมากยิ่งขึ้น เช่นเคยครับเราไม่จำเป็นต้องให้แบบเราอยู่ตรงกลางเสมอไป ก็สามารถมีภาพสวยๆได้เหมือนกันครับ
4) เส้นนำสายตา
- คือการถ่ายวิดีโอหรือถ่ายภาพที่มีลักษณะ เป็นแถวเป็นแนว ที่เกิดจาก ของวางเรียงกัน ทางรถไฟ คนยืนเรียงแถว เป็นต้น
การถ่ายแบบนี้จะทำให้เพิ่มความน่าสนใจให้กับวิดีโอหรือภาพของเรามากขึ้นครับ
3. มุมมองในการถ่ายวิดีโอ แบ่งเป็น 3 แบบด้วยกัน
1) Normal View
- คือ มุมมองการถ่ายในระนาบแบบ ปกติทั่วๆไป หรือก็คือการถ่ายตรงๆเข้าไปเลยครับ
2) Bird Eyes View
- คือ มุมมองของนก เป็น การถ่ายมุมสูง นิยมใช้ถ่ายคนเป็นกลุ่มซึ่งจะให้อารมณ์ความสวยงาม ความใหญ่โตของสถานที่ทั้งหมด
3) Worm Eyes View
- คือ มุมมองของหนอน เป็น การถ่ายมุมเสย จะเป็นการสื่ออารมณ์คนที่ถูกถ่ายดูแบบมีพลังและดูยิ่งใหญ่
4. การเพิ่มสีสันในวิดีโอ
1) Silhouette
- คือ การถ่ายย้อนแสง ทำให้วัตถุที่ถ่ายออกมากลายเป็นเงาสีดำ ถ่ายตอนในช่วงพระอาทิตย์ใกล้ตกดิน จะสื่อให้อารมณ์เหงาๆ ช่วงเวลาที่สำคัญๆกำลังที่จะใกล้จบลงเต็มทีแล้ว
2) Depth of Field
- เป็นการถ่าย ความชัดตื้นชัดลึกของวัตถุ หรือที่เขาเรียกกันบ่อยๆว่า หน้าชัดหลังเบลอ หรือ หลังชัดหน้าเบลอ โดยการที่เราปรับค่ารูรับแสงหรือ ค่า f/ หาก ค่า f/ ยิ่งน้อยรูรับแสงจะกว้างทำให้เกิดการชัดตื้นมาก ภาพวัตถุจะชัดฉากหลังจะเบลอ
- เทคนิคนี้จะเหมาะกับการถ่ายวิดีโอด้วย กล้อง DSLR นะครับ เพราะกล้องวิดีโอทั่วๆไปส่วนใหญ่จะปรับ ค่า f/ ไม่ค่อยได้
สุดท้ายผมอยากแนะนำเพิ่มเติมว่า ในตอนที่เราถ่ายวิดีโอนั้นไม่ว่าจะกำลังทำเทคนิคอะไรอยู่
ขอให้เราถ่ายเก็บไว้หลายๆแบบครับ เพื่อที่ว่าเราจะได้เอามาคัดสิ่งที่ดีที่สุดกันต่อได้ ไม่ต้องกังวลว่าจะกลัวเมมเต็ม
หรือมันจะเสียเวลาเปล่า ถ่ายให้เต็มที่แล้วเราจะได้ไม่เกิดเหตุการณ์ว่า “โธ่ รู้งี้ ถ่ายมุมนั้นไว้ก็ดีสิ”
อะไรทำนองนี้นะครับ ขอบคุณทุกคนที่ติดตามกันนะครับ ไว้พบกันคราวหน้า สวัสดีครับ